"ซีไอเอ็มบีไทย" เปิดแผนรุก สตรัคเจอร์โปรดักส์ กวาดเงินลงทุนปีนี้แตะ 100,000 ล้านบาท เดินหน้าเจาะลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ค มุ่งคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับนักลงทุนในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ พร้อมกันนี้ ล่าสุด คว้ารางวัล "ธนาคาร - ผลิตภัณฑ์" ยอดเยี่ยม ด้านตราสารอนุพันธ์ 8 ปีซ้อน
ตั้งแต่ต้นปีมานี้ “ตลาดการลงทุน” มีความผันผวน จากปัจจัยลบทั้ง “สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน การเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการเตรียมทำคิวทีของเฟด” ส่งผลให้ “นักลงทุน” เริ่มชะลอการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และมองหาการลงทุนใน “สินทรัพย์ปลอดภัย” โดยเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์ปลอดภัยมากกว่า 50% ของพอร์ตลงทุน
ส่วนหนึ่งแบ่งมากระจายลงทุนใน “หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง” นับเป็นผลิตภัณฑ์การลงทุนรูปแบบใหม่ที่ผู้ลงทุนให้ความสนใจสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง “ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย” ถือเป็นผู้นำใน “ตลาดหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง” ซึ่งการันตีจากได้รับรางวัลธนาคารยอดเยี่ยม และผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมด้านตราสารอนุพันธ์ ตราสารที่มีความซับซ้อน และรางวัลอื่นๆ รวม 34 รางวัล อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8
"ภูดินันท์ เศรษฐนันท์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจผลิตภัณฑ์การเงิน และ ที่ปรึกษา Equity Derivatives ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจ ว่า ธนาคารยังคงตั้งเป้าหมายรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดตราสารหนี้ และเป็น 1 ใน 3 ของตลาดหุ้นกู้อนุพันธ์แฝง ซึ่งในช่วงที่เหลือปีนี้ว่า ธนาคารยังมุ่งมั่นและมุ่งเน้นในการเฟ้นหาทางผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ตลาดแรกและตลาดรอง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับภาวะตลาดที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น
ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ธนาคารเตรียมออกหุ้นกู้อนุพันธุ์แฝง อีก 1-2 ผลิตภัณฑ์ ที่ลงทุนในสินทรัพย์อ้างอิงดัชนีประเภทอื่นๆ มีความผันผวนต่ำ และมีอัพไซด์ ในธีมการลงทุนเมกะเทรนด์ และเจาะเซกเมนต์ที่มีโอกาสเติบโตในระยะข้างหน้า เช่น ตลาดจีน ตลาดลักซ์ชัวรี่ ดัชนีอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR (THOR INDEX)
ในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมานี้ว่า ธนาคารมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาราว 28,242 ล้านบาท เติบโต 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และในปีนี้พุ่งเป้ามีเม็ดเงินไหลเข้ากว่า 100,000 ล้านบาท เติบโต 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวปีก่อน
"ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติทางการเงินหลายอย่าง ถือเป็นที่น่าพอใจ โดยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย พยายามคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับนักลงทุนในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้"
โดยการลงทุน “หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง" ที่ คุ้มครองเงินต้น 100% และมีการปรับสัดส่วนการลงทุนอัตโนมัติ อย่างมีวินัยภายใต้กลยุทธ์การบริหารที่โดดเด่นแบบ Rule-based Framework เข้าถึงสินทรัพย์ทั่วโลกทั้งพันธบัตรและหุ้น
อย่าง “หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง Maxi" ซึ่งเป็นการลงทุนรูปแบบใหม่ จะมีการอ้างอิงสินทรัพย์ต่างๆ ที่เหมาะกับแต่ละสภาวะตลาดที่เกิดขึ้น เป็นการลงทุนที่ได้รับความสนใจสูงขึ้น เพราะสามารถถือครองไว้ได้อย่างสบายใจ มีผลตอบแทนที่แน่นอนแม้ยามตลาดผันผวน
นักลงทุนไม่จำเป็นต้องเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของดัชนี (Index) เองตลอดเวลา อีกทั้งยังมีผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นของดัชนี Citi FlexiBeta ESG USD VT5 ซึ่ง Exclusive มีเฉพาะที่ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เท่านั้น
อีกทั้ง “การอ่อนค่าของเงินบาท” ถือได้ว่า “เป็นโอกาสสำหรับการลงทุน” ในสินทรัพย์ต่างประเทศที่อยู่ในรูปเงิน “สกุลดอลลาร์”เพราะนอกจากจะได้ผลตอบแทนบนสินทรัพย์ลงทุนแล้ว ยังมีโอกาสได้ผลตอบแทนอีกต่อจากอัตราแลกเปลี่ยนที่คาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงต่อเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ด้วย
สำหรับตัวอย่างตราสารทุนที่ลงทุนในพอร์ต ได้แก่ หุ้นบริษัท ASML Holding ที่ได้รับ ESG score 69/100, หุ้นบริษัท Visa ที่ได้รับ ESG score 63/100, หุ้นบริษัท Walt Disney ที่ได้รับ ESG score 55/100 จาก Arabesque
ในส่วนของนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ ธนาคารยังมีผลิตภัณฑ์ Highlight อย่าง “CIMB ELN” ( Equity Linked Note) คือ หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง อ้างอิงหลักทรัพย์ (หุ้นรายตัวใน SET50) อายุ 15 วัน - 9 เดือนตัวอย่างหุ้นอ้างอิง เช่น EA, GULF, IVL, RBF, TOP, TRUE โดดเด่นผลตอบแทนสูง ที่ให้ผลตอบแทน 7-15% ต่อปี ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักลงทุนดีมากในช่วงที่ผ่านมา โดยจำนวนผู้ลงทุนเพิ่มขึ้น 200% และยอดขายที่เพิ่มขึ้นถึง 174.04% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปี 2564
“นักลงทุนระดับมหาเศรษฐีของธนาคาร หากรับความเสี่ยงได้น้อย จะเน้นการลงทุนตราสารหนี้ ระยะ 1 เดือน ถึง 3 ปีผลตอบแทนเฉลี่ย 2-3% ต่อปีก็ถือว่าพอใจแล้ว แต่หากรับความเสี่ยงได้มาก และมีความเข้าใจการลงทุนหุ้น ในช่วงจังหวะนี้จะเน้นการปรับพอร์ตรีบาลานซ์ ด้วยการเพิ่มการลงทุนหุ้นกู้อนุพันธ์แฝง คุ้มครองเงินต้น 100 % และให้เงินทำงานผ่านการลงทุนตามดัชนี มีโอกาสรับผลตอบแทนเฉลี่ย 10-15% ปี”
พร้อมกันนี้ ธนาคารเน้นการพัฒนาระบบต่างๆ ที่จะเข้าสนับสนุนการทำงานเพิ่มประสิทธิภาพของทีมปรึกษาทางการเงิน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ถือเป็นจุดแข็งของธนาคารอยู่แล้ว ให้สามารถเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการลงทุนของลูกค้าได้ทันท่วงทีจากโมบายแอปพลิเคชันของธนาคาร
โดยในปีนี้ พบว่า “ Ultra High Net Worth” มีการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในแต่ละครั้งมากขึ้น ถึงระดับ1,000 ล้านบาท และกระจายการลงทุนหลากหลายสินทรัพย์เฉลี่ยสินทรัพย์ละ 100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากในอดีตที่ผ่านมาเม็ดเงินลงทุนของลูกค้ากลุ่มนี้เฉลี่ยที่ 50-100 ล้านบาทเท่านั้น สะท้อนถึง ธนาคารได้รับความน่าเชื่อถือและไว้วางใจจากผู้ลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ล่าสุดธนาคารได้รับรางวัลยอดเยี่ยม และผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมด้านตราสารอนุพันธ์ ตราสารที่มีความซับซ้อน Best Structured Product House, Best Bank for Investment Solutions ในด้านต่างๆ เช่น Equity, Rates, Credit และ FX, Best Structured Investment and Financing Solutions จากหลากหลาย asset class ได้แก่ Equity, Rates, Credit และ Fund, และรางวัลอื่น ๆ รวม 34 รางวัล อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8
"เพา จาตกานนท์" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจบริหารเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ปีนี้นับเป็นอีกปี ที่ความมุ่งมั่นทุ่มเทของทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงหรือทีมที่มีชื่อเรียกคุ้นหูว่า “ ทีม Structured Product ” ของธนาคารประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ในการนำเสนอตราสารอนุพันธ์ ตราสารที่มีความซับซ้อน แก่ผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีการเติบโตเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็น 10 เท่าตัว มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้า High Net Worth และ Ultra High Net Worth
ด้าน กลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ และรายใหญ่พิเศษ ( High Net Worth -Ultra High Net Worth) เป็นกลุ่มพีระมิดทางสังคม หากช่วยกันสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรม และการลงทุนที่ยั่งยืนก็นับได้ว่า ความมั่งคั่งที่มีนั้น ได้ช่วยสร้างความแข็งแรงและนำทางผู้อื่นให้ร่วมกันพัฒนาประเทศชาติและโลกนี้ให้สวยงามและน่าอยู่ยิ่งขึ้น
“การเป็นผู้บุกเบิกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การรักษามาตรฐาน และเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ ในการสร้างผลิตภัณฑ์ด้านตราสารอนุพันธ์ให้โดดเด่น ถูกใจผู้ลงทุน ให้ได้รับความน่าเชื่อถือและไว้วางใจเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก ธนาคารจึงมุ่งพัฒนาขีดความสามารถอย่างต่อเนื่อง”
ที่ปรึกษาส่วนตัวด้านการลงทุน เพิ่มโอกาสให้คุณไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้เร็วกว่า ด้วยคำแนะนำที่ใช่คุณ